ประกันลดหย่อนภาษี ในปี 2567 วางแผนภาษีง่ายๆ ลดหย่อนยังไงให้คุ้มที่สุด ในวันนี้เรามาพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องของการวางแผนภาษีและการใช้ประกันเพื่อลดหย่อนภาษีกันดีกว่า เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญและทุกคนควรรู้ ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกจ้าง ผู้ประกอบการ หรือแม้แต่นักลงทุน การรู้จักใช้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีนั้นสามารถช่วยให้คุณประหยัดเงินได้มากขึ้น และสะสมเงินเพื่อเป็นทุนในอนาคตได้อีกด้วย
ประกันอะไรบ้างที่ลดหย่อนภาษีได้?
ในปี 2567 นี้ มีประกันหลายประเภทที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันแบบสะสมทรัพย์ บำนาญ หรือประกันที่ทำให้บิดามารดา โดยแต่ละประเภทจะมีเงื่อนไขและลดหย่อนได้ไม่เท่ากัน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อประกันใด ๆ ควรศึกษารายละเอียด ทำความเข้าใจกับข้อกำหนดของกรมสรรพากร เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการลดหย่อนภาษี ซึ่งเบี้ยประกันที่กรมสรรพากรอนุญาตให้ใช้ลดหย่อนภาษีได้ มี 2 ประเภท ดังนี้
- ประกันชีวิต
- ประกันสุขภาพ
1. ประเภทประกันชีวิต
ประเภทของประกันชีวิต แบ่งได้เป็น 2 แบบคือ ประกันชีวิตแบบทั่วไป และ ประกันชีวิตแบบบำนาญ
1.1 ประกันชีวิตแบบทั่วไป
โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีของประกันชีวิตแบบทั่วไปรวมกันแล้ว สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยมีเงินไขต่อไปนี้
- ต้องเป็นประกันชีวิตที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- ต้องทำกับบริษัทประกันในประเทศไทย
- หากมีการจ่ายเงินคืนทุกปี เงินที่ได้รับคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยรายปี
- หากมีการจ่ายเงินคืนตามช่วงระยะเวลา อย่างประกันสะสมทรัพย์ จะได้รับเงินคืนระหว่างสัญญา เช่น ทุกๆ 5 ปี เงินที่ได้รับคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสมของแต่ละช่วงเวลา
ถ้าเลิกสัญญาฯ หรือเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตก่อนครบ 10 ปี จะเจออะไร?
- ไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสำหรับกรมธรรม์ฉบับนั้นได้อีก
- ต้องจ่ายคืนภาษีย้อนหลังของทุก ๆ ปีที่ได้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนไป พร้อมดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือน ของยอดภาษีที่ต้องจ่าย
1.1.1 ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
ประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองชีวิตยาวนานตลอดชีพส่วนใหญ่จะถึงอายุ 99 ปี แต่จะใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ ต้องเป็นประกันชีวิตที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป แผนประกันชีวิตแบบตลอดชีพอย่างเช่น AIA Pay Life Plus (Non Par) ประกันชีวิตที่สามารถเลือกระยะเวลาการชำระเบี้ยฯ 10 ปี 15 ปี หรือ 20 ปี ให้ความคุ้มครองนานถึงอายุ 99 ปี เป็นต้น
1.1.2 ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา
ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “ประกัน Term” เป็นประกันชีวิตที่เน้นให้ความคุ้มครองชีวิตระยะสั้น โดยประกันประเภทนี้ เบี้ยประกันจะถูก ให้ความคุ้มครองชีวิตสูง เหมาะสำหรับผู้ต้องการต้องการนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีเลยค่ะ
1.1.3 ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นประกันชีวิตที่ผสมผสานระหว่างการออมเงินและความคุ้มครองชีวิต ผู้เอาประกันจะต้องจ่ายเบี้ยประกันเป็นระยะเวลาตามที่ระบุในกรมธรรม์ เมื่อครบกำหนดสัญญา จะได้รับเงินคืนพร้อมผลตอบแทน แผนประกันสะสมทรัพย์ เช่น AIA Endowment 15/25 (Non Par) มีเงินคืนทุกปี ตั้งแต่ปีที่ 2 จนถึงปีที่ 24 ปีครบสัญญา รับเงินก้อนคืน 121% สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
1.1.4 ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit-Linked)
ประกันชีวิตแบบ Unit-Linked หรือที่เรียกอีกอย่างว่าประกันควบการลงทุน เป็นประกันชีวิตที่ผสมผสานระหว่างความคุ้มครองชีวิตและการลงทุน ผู้เอาประกันจะต้องจ่ายเบี้ยประกัน ซึ่งจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
- ค่าการประกันภัย เป็นค่าประกันที่ใช้จ่ายสำหรับคุ้มครองชีวิต หรือทุพพลภาพ
- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เป็นใช้จ่ายในการดำเนินการ ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการของบริษัทประกัน
- เงินสำหรับลงทุน นำไปลงทุนในกองทุนรวมตามที่ผู้เอาประกันเลือก
ส่วนที่ลดหย่อนภาษีได้ คือ ส่วนของค่าการประกันภัยและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ที่เกี่ยวข้องกับความคุ้มครองชีวิต ไม่รวม เงินส่วนที่นำไปลงทุน นำมารวมกับประกันชีวิตแบบทั่วไปแล้ว สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
สำหรับประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีรายได้สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท แต่ต้องเป็นคู่สมรสที่แต่งงานกันมาแล้วทั้งปี
1.2 ประกันชีวิตแบบบำนาญ
ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นประกันชีวิตที่เน้นการออมเงินคล้ายกับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ แต่รูปแบบการจ่ายผลประโยชน์จะต่างกัน หลักๆแล้วประกันประเภทนี้จะได้รับเงินคืนในรูปแบบของเงินบำนาญ เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถหักลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท หากไม่ได้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนสำหรับประกันชีวิตแบบทั่วไป เงื่อนไขการนำประกันชีวิตแบบบำนาญมาลดหย่อนภาษี มีดังนี้
- ต้องเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่มีระยะเวลาความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
- กำหนดช่วงอายุการจ่ายเงินตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไปถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น
- เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)ไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน
2. ประเภทประกันสุขภาพ
การลดหย่อนภาษีจากประกันสุขภาพ แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ ประกันสุขภาพของตัวเองและประกันสุขภาพของพ่อแม่
2.1 ประกันสุขภาพของตัวเอง
ประกันสุขภาพประเภท UDR ย่อมาจาก Unit Deducting Rider เป็นประกันสุขภาพแบบสัญญาเพิ่มเติมที่แนบกับประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) ก็จะนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน แต่แค่เฉพาะส่วนของค่าการประกันภัยและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ที่เกี่ยวข้องกับความคุ้มครองสุขภาพเท่านั้นนะคะ โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท ต่อปีและเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขในการลดหย่อนต้องเป็นบริษัทประกันในประเทศไทย แผนประกันสุขภาพที่ทำแล้วได้ลดหย่อนภาษี แนะนำ คือ AIA Health Happy ประกันสุขภาพเหมาจ่าย คุ้มครองสูงสุด 25 ล้านบาท ระยะเวลาคุ้มครองสูงสุดถึงอายุ 99 ปี
2.2 ประกันสุขภาพของพ่อแม่
“ประกันสุขภาพของพ่อแม่นะคะ ไม่ใช่ประกันชีวิต” เฉพาะตัวประกันชีวิตที่คุ้มครองแค่ชีวิตของพ่อแม่ใช้ลดหย่อนไม่ได้เด้อ เราสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายจริงที่ซื้อให้พ่อแม่ไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท ต่อคน ต่อปี ดังนั้น เราสามารถใช้ประกันของพ่อลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาทและของแม่ได้ไม่เกิน 15,000 บาท นั้นเองค่ะ โดยมีเงื่อนไขต่อไปนี้
เงื่อนไขในการใช้สิทธิลดหย่อนประกันพ่อแม่
- พ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
- พ่อแม่ต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
- พ่อแม่ต้องมีสัญชาติไทย
- ผู้ใช้สิทธิ์ต้องเป็นลูกตามกฎหมายหรือเป็นคู่สมรสของลูกตามกฎหมาย (ลูกบุญธรรมใช้ลดหย่อนไม่ได้นะคะ)
ประเภทประกันของพ่อแม่ที่สามารถนำไปลดหย่อนได้
- ประกันสุขภาพ ที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยการทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ ซึ่งมาจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
- ประกันอุบัติเหตุ ที่มีความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ ซึ่งมาจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
- ประกันโรคร้ายแรง เช่น ประกันภัยโรคมะเร็ง เป็นต้น
- ประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long-term Care) เป็นประกันที่คุ้มครองในกรณีที่พ่อแม่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
การยื่นขอรับสิทธิลดหย่อนภาษีของพ่อแม่สามารถแจ้งกับบริษัทประกันว่ามีความประสงค์ที่จะนำประกันของคุณพ่อคุณแม่ไปลดหย่อน ภาษี หลังจากนั้นทางบริษัทจะส่งข้อมูลเบี้ยประกันสุขภาพให้กรมสรรพากรดำเนินการต่อไป
รู้หรือไม่ : พ่อแม่ที่มีลูกหลายคน สามารถหารเฉลี่ยค่าประกันและนำไปลดหย่อนได้ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 15,000 บาท เช่น หากเรามีพี่น้อง 2 คน จ่ายเบี้ยประกันให้คุณแม่ 16,000 บาท จะสามารถนำไปลดหย่อนได้คนละ 7,500 บาทนั้นเอง (มาจากจำนวนลดหย่อนสูงสุด 15,000/2)
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับประกันลดหย่อนภาษีจากกรมสรรพากร : https://www.rd.go.th/557.html
รายละเอียดและเงื่อนไขประกันลดหย่อนภาษี
1. เบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันสุขภาพของตัวเอง สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงรวมกันได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- ประกันชีวิตแบบทั่วไป – สามารถหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท โดยต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- เบี้ยประกันสุขภาพ – สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท
- หากมีเงินคืนระหว่างสัญญา เงินคืนสะสมต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันภัยชีวิตรายปี และไม่เกิน 20% ตามช่วงระยะเวลานั้นๆ
2. ประกันชีวิตแบบบำนาญ – สามารถหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 200,000 บาท หรือไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ซึ่งเงินก้อนนี้ซึ่งเงินก้อนนี้เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- กรณีไม่มีเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปหักลดหย่อนแทนเบี้ยประกันชีวิตตามข้อ 1) ก่อนได้ ซี่งจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีรวมสูงสุด 300,000 บาท
- กรณีมีคู่สมรส คู่สมรส แต่ละคนสามารถแยกยื่นภาษีในส่วนของเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนได้ถึงคนละ 200,000 บาท!
เทคนิคเลือกประกันลดหย่อนภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ
ประเมินความต้องการและสถานะทางการเงิน
ก่อนอื่นเลยเราต้องประเมินความต้องการและสถานะทางการเงินของเราก่อน โดยพิจารณาจากรายได้ ค่าใช้จ่าย ว่าเรามีเงินเหลือเพียงพอไว้ทำประกันได้เท่าไหร่ โดยไม่กระทบกับความเป็นอยู่ปกติของเรา
เลือกประเภทประกันที่เหมาะกับตัวเอง
เราไม่ควรซื้อประกันเพียงเพื่อลดหย่อนภาษีนะคะ โดยหลักๆอยากให้มองเรื่องของผลประโยชน์ในการทำประกันเป็นหลัก เช่น เราอยากได้การคุ้มครองชีวิตก็เลือกทำประกันชีวิต เราอยากได้ในเรื่องของการรักษาก็ทำประกันสุขภาพ เป็นต้น ส่วนผลประโยชน์การลดหย่อนภาษี คือสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากการทำประกันค่ะ
ตัวอย่างการคำนวณเบี้ยประกันลดหย่อนภาษี
ตัวอย่าง P อายุ 35 ปี เพศหญิง พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง รายได้ต่อปี 650,000 บาท ค่าลดหย่อน ค่าเบี้ยประกันสุขภาพตนเอง 28,000 บาท ประกันสะสมทรัพย์ 76,000 บาท ประกันสังคม 9,000 บาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 44,000 บาท ดอกเบี้ยบ้าน 100,000 บาท ต้องจ่ายภาษีเท่าหร่ต่อปี
ตัวอย่างรายการลดหย่อนภาษี
คำถามที่พบบ่อย
สรุป
ประกันชีวิตและประกันสุขภาพเป็นทางเลือกที่ดีในการวางแผนลดหย่อนภาษี ควรเลือกประกันที่เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถทางการเงินไม่เยอะจนตัวเองจ่ายไม่ไหว นอกจากนี้แล้ว ควรศึกษาเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจทำประกันนะคะ เพราะนอกจากจะได้รับผลประโยชน์ในเรื่องของการลดหย่อนภาษีแล้ว เรายังได้ประโยชน์จากประกัน เช่น ความคุ้มครองชีวิต ความคุ้มครองในเรื่องของค่ารักษา อีกด้วย
การวางแผนภาษีด้วยการใช้ประกันลดหย่อนภาษีเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณประหยัดเงินจากการเสียภาษีได้แล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางการเงินในอนาคตอีกด้วย ดังนั้น อย่ารอช้า ลองศึกษาข้อมูลและเลือกซื้อประกันที่เหมาะสมกับความต้องการของคุณ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการลดหย่อนภาษี