รู้หรือไม่ว่าโรคหลอดเลือดสมอง หรือที่เรียกว่า สโตรก (Stroke) นั้นใกล้ตัวกว่าที่หลายคนคิด! แม้ว่าอาจดูเหมือนเป็นโรคที่เกิดกับผู้สูงอายุเป็นหลัก แต่ในความจริงแล้ว โรคนี้สามารถส่งผลกระทบได้ทุกช่วงอายุ และเป็นสาเหตุสำคัญของอัมพฤกษ์และอัมพาตในวัยทำงาน ซึ่งอาจเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่เครียดอย่างไม่หยุดหย่อน
อ่านบทความ : 5 โรคร้ายคร่าชีวิตคนไทย ภัยเงียบใกล้ตัวที่คุณควรรู้!
สโตรก (stroke) เป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตและความพิการลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย โรคสโตรกจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะมันอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ณ ที่ทำงาน ในบ้าน หรือแม้กระทั่งในระหว่างที่ทำกิจกรรมสนุกๆ กับเพื่อนๆ การรู้จักโรคนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจ.
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คืออะไร ?
โรค สโตรก (Stroke) เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างเฉียบพลัน เนื่องจากหลอดเลือดแดงไปเลี้ยงสมองตีบ ตัน หรือแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองบางส่วนหรือทั้งหมดหยุดชะงัก อาจทำให้เกิดเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตแบบเฉียบพลันได้
สาเหตุหลัก ของโรคได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เบาหวาน และสูบบุหรี่
อาการ ที่พบบ่อย ได้แก่ ชาหรืออ่อนแรง ใบหน้า แขนขาข้างใดข้างหนึ่ง พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว มุมปากตก ตาข้างใดข้างหนึ่งมัว มองไม่เห็น มองเห็นภาพซ้อน หรือมีลานสายตาผิดปกติเฉียบพลัน ปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน เวียนศีรษะเฉียบพลัน หรือทรงตัวผิดปกติ
โรคหลอดเลือดสมอง – Stroke มีกี่ประเภท ?
โรคสโตรกหรือหลอดเลือดสมอง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง สาเหตุหลักเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ ลิ่มเลือดอุดตัน และการสะสมของไขมันในหลอดลือด ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ ส่งผลให้เซลล์สมองขาดออกซิเจนและสารอาหาร
- หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) ภาวะที่หลอดเลือดแดงในสมองฉีกขาด เนื่องจากหลอดเลือดมีความเปราะบาง ความดันโลหิตสูง หรือการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแตกง่าย ส่งผลทำให้เกิดเลือดออกในสมอง ทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจน เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อสมองตามมา
รู้จัก Golden period for stroke
Golden period for stroke หรือ ช่วงเวลาทองของโรค หมายถึง ช่วงเวลาที่มีความสำคัญต่อการรักษาและการฟื้นฟูผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดสมองแตก หรือ หลอดเลือดสมองตีบอุดตัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้
1. Stroke Fast Track
Stroke Fast Track เป็นระบบการรักษาผู้ป่วยโรคสโตรก (Stroke) อย่างเร่งด่วน เพราะเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรคนี้ โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะ การได้รับยาละลายลิ่มเลือดซึ่งมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใน 4.5 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ
2. Golden period for stroke rehabilitation
เป็นช่วงเวลาที่ผู้ป่วยควรเข้ารับการฟื้นฟู หลังจากพ้นช่วงวิกฤตแล้ว (Acute-sub acute) ช่วงเวลานี้ อยู่ระหว่าง 3-6 เดือน การฟื้นฟู จะช่วยให้เซลล์สมองที่ได้รับความเสียหาย กลับมาทำงานเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายกลับมาทำงาน ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงปกติ ช่วยเหลือตัวเองได้
สังเกตอาการโรคหลอดเลือดสมองตามหลัก FAST
อาการของโรคมักเป็นทันทีทันใด ถ้าเราสามารถสังเกตอาการได้อย่างทันท่วงที จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต และรักษาการทำงานของสมองให้กลับมาเป็นปกติได้ สังเกตอาการตามหลัก FAST ได้แก่
F (Face) ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว หรือ มุมปากตกข้างใดข้างหนึ่ง หรือผู้ป่วยบางท่านอาจมีอาการระหว่างทดสอบง่าย ๆ ได้โดยลองให้ผู้ป่วยยิ้ม สังเกตว่ายิ้มได้ไม่เท่ากัน หรือ มุมปากตกหรือไม่
A (Arms) อาการแขนขาอ่อนแรง ยกแขนขึ้นทั้งสองข้าง สังเกตว่าแขนข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง ชา หรือ ยกไม่ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นด้านเดียวกัน ทดสอบง่ายๆ เช่น ให้ผู้ป่วยลองเขียนหนังสือ หรือให้ยกแขนหรือขาทั้งสองข้างดู ถ้าด้านในด้านหนึ่งยกไม่ขึ้น แสดงว่ามีความผิดปกติ
S (Speech) ผู้ป่วยจะมีอาการพูดไม่ชัด พูดติดขัด หรือ พูดไม่รู้เรื่อง หรือฟังคำพูดคนอื่นไม่เข้าใจ สามารถทดสอบได้ด้วยการถามคำถามง่ายๆ ให้ผู้ป่วยตอบหรือทำตาม เช่น ตอนนี้กี่โมงแล้ว หรือชูนิ้วสามนิ้ว เป็นต้น
T (Time) เพราะเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมอง ภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง เป็นช่วงเวลาทองในการรักษา ยิ่งไปเร็ว โอกาสรอดชีวิต และฟื้นตัวได้เต็มที่ จะยิ่งมีมากขึ้น
สโตรก เกิดจากอะไร?
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคสโตรกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ กับ ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้
- ความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เนื่องจากความดันโลหิตที่สูงจะไปทำให้ผนังหลอดเลือดสมองเสื่อมและเปราะบาง เพิ่มความเสี่ยงต่อการแตกของหลอดเลือด
- โรคไขมันในเลือดสูง โดยการสะสมของไขมัน คอเลสเตอรอล และสารอื่นๆ ในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง
- โรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ โรคเลือด
- ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ แอลกอฮอล์กระตุ้นให้ความดันโลหิตสูง
- การสูบบุหรี่ สารพิษในควันบุหรี่ ทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ หรืออุดตัน ไม่ว่าจะสูบเอง หรือได้รับควันบุหรี่ด้วยก็ตาม
ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้
- ปัจจัยด้านเพศ โดยเฉพาะเพศชายมีความเสี่ยงสูงกว่าเพศหญิง แต่เพศหญิงมักจะเป็นโรคสโตรกเมื่ออายุมากขึ้น และมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคสโตรกมากกว่าเพศชาย
- ปัจจัยด้านเชื้อชาติ กลุ่มคนชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันมีความเสี่ยงสูงกว่าคนเชื้อชาติอื่น
- ปัจจัยด้านอายุ กว่า 85% ของผู้ป่วยโรคนี้ มีอายุเกิน 50 ปี
- ปัจจัยด้านพันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัวหรือญาติใกล้ชิดเป็นโรคสโตรก
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
โรคสโตรกเป็นโรคที่พบบ่อยและอันตราย แต่สามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและควบคุมโรคประจำตัว ดังนี้
- ควบคุมความดันโลหิต ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคสโตรก ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ออกกำลังกาย และทานยาตามแพทย์สั่ง
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ควบคุมระดับไขมันในเลือด ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- เลิกสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงของโรค
- งดดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มในปริมาณที่เหมาะสม การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเพิ่มความเสี่ยงของการเกิด ควรดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม ผู้ชายไม่ควรเกินวันละ 2 แก้ว ผู้หญิงไม่ควรเกินวันละ 1 แก้ว
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์
- ควบคุมน้ำหนัก ภาวะอ้วนเพิ่มความเสี่ยงเนื่องจากไขมัน ความดันและอื่นๆ ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ เลือกทานอาหารที่มีผัก ผลไม้ ธัญพืช และโปรตีนไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และโซเดียมสูง
- จัดการความเครียด ความเครียดเรื้อรังเพิ่มความเสี่ยง ควรหาวิธีจัดการความเครียด เช่น ฝึกสมาธิ โยคะ หรือฟังเพลง
คำถามที่พบบ่อย
การได้รับการรักษา ภายใน 4.5 ชั่วโมง จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นตัวได้มากยิ่งขึ้น
การรักษาโรคสโตรก ขึ้นอยู่กับชนิด สาเหตุ และความรุนแรงของโรค โดยทั่วไป แพทย์จะรักษาโดยใช้ยาละลายลิ่มเลือด ยาขยายหลอดเลือด การผ่าตัด หรือการทำหัตถการอื่นๆ
สรุป
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นภาวะที่สมองขาดเลือด เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมองตีบหรืออุดตัน ส่งผลให้เซลล์สมองขาดออกซิเจนและสารอาหาร อาจทำให้เกิดอัมพาต อ่อนแรง พูดไม่ชัด หรือเสียชีวิตได้
ประเภทของโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน และ หลอดเลือดสมองแตก โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควบคุมโรคประจำตัว และตรวจสุขภาพเป็นประจำ
แหล่งอ้างอิง